ดูบทความวิธีสั่งอะไหล่ ไม่มีพลาด EP.2

วิธีสั่งอะไหล่ ไม่มีพลาด EP.2

วิธีสั่งอะไหล่ ไม่มีพลาด EP.2

          จากตอนที่แล้วเราได้ทำความรู้จักอะไหล่นาฬิกาอย่างคร่าว ๆ กันแล้ว ว่ามีชิ้นส่วนประเภทไหนบ้าง วันนี้มาทำความรู้จักเครื่องไม้เครื่องมือและวิธีการใช้งานสำหรับช่วยให้การสั่งซ่อมนาฬิกามีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น

          ไม่ว่าจะร้านไหน ๆ ก็ต้องเคยเจอลูกค้ามาเปลี่ยนกระจกนาฬิกา หรือเปลี่ยนสปริงสายนาฬิกาอยู่วันละหลาย ๆ ครั้ง แต่การจะหยิบอะไหล่ให้ถูกชิ้นถูกต้อง ก็ต้องพึ่งเครื่องมือวัดที่เหมาะสม

ภาพเวอร์เนียคาลิเปอร์แบบมาตรฐานจากแบรนด์ Mitutoyo

          ระดับเบสิค เวอร์เนียคาลิเปอร์ (Vernier Caliper) หากไขควงปากคีบเปรียบเหมือนนิ้วมือของช่างนาฬิกา เวอร์เนียร์คาร์ลิเปอร์ก็เปรียบเหมือนสายตาของช่างนาฬิกา ที่จะช่วยพิจารณาว่าของแต่ละชิ้นมีขนาดเป็นอย่างไร สามารถใส่กันได้พอดี หรือต้องได้รับการปรับแต่งก่อนใช้งาน รวมถึงใช้เพื่อช่วยบอกรายละเอียดสินค้าว่ามีขนาดและมิติต่าง ๆ เป็นอย่างไร เช่นกระจกนาฬิกา 1 ชิ้นมีความหนาเท่าไร กว้างเท่าไร หรือในการใส่เข็มนาฬิกาจะต้องใช้แท่นกดขนาดเท่าไรให้เหมาะสมกับจักรแต่ละชิ้น

          เวอร์เนียสามารถวัดได้ทั้งความกว้างและความลึก ผ่านการใช้ปากใน ปากนอก และก้านวัดความลึก โดยทั่วไปจะอ่านค่าความละเอียดได้ถึงระดับ 0.1 มิลลิเมตรเป็นอย่างน้อยซึ่งละเอียดเพียงพอสำหรับใช้งานวัดขนาดชิ้นส่วนทั่วไปของนาฬิกา แต่ละชิ้นส่วนจะมีรายละเอียด วิธีการวัด รวมถึงข้อควรระวังที่แตกต่างกันไป

          เครื่องนาฬิกา โดยทั่วไปการซื้อเครื่องนาฬิกา ถ้ามีหมายเลขเครื่องและตำแหน่งการแสดงผลต่าง ๆ เช่นตำแหน่งวันที่ และเข็มต่าง ๆ ก็ค่อนข้างเพียงพอที่จะได้เครื่องที่ถูกต้อง นาฬิกาบางเรือนอาจมีรายละเอียดที่มากขึ้นดังนี้

ภาพการใช้เวอร์เนียวัดความสูงรวมของเครื่องนาฬิกาจากแกนเข็มวินาทีถึงฐานเครื่อง

  • ความสูงเข็มนาฬิกา เครื่องนาฬิกาปกติจะมีความสูงของจักรแสดงเวลาพอให้พ้นจากหลักชั่วโมงทั่วไป เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถทำนาฬิกาให้บางลงได้เท่าที่ต้องการ แต่นาฬิกาบางชนิดเช่น นาฬิกาประดับเพชร การแกะสลักลวดลาย หรือหน้าปัดสองชั้นต่าง ๆ อาจต้องการยกเข็มให้สูงกว่าปกติเพื่อหมุนผ่านของตกแต่งหน้าปัดเหล่านี้ได้ โดยวิธีวัดความสูงเข็มนาฬิกา จะใช้วิธีที่สะดวกที่สุดคือใช้เวอร์เนียร์ปากนอกวัดความสูงของแกนเข็มวินาทีจนถึงส่วนล่างสุดของเครื่อง เป็นหน่วย XX มม. เนื่องจากเครื่องบางรุ่นมีความสูงถึง 3 ระดับ การบอกข้อมูลแค่เข็มสูงกับเข็มปกติอาจไม่เพียงพอ และถ้าเข็มสูงเกินไปอาจทำให้แกนเข็มวินาทีชนกับกระจกและหักเสียหายได้
  • ขนาดตัวเรือน บางครั้งที่ช่างนาฬิกาก็ต้องแปลกใจ เพราะเปิดฝาหลังออกก็พบกับคำถามว่า ทำไมโรงงานนี้ทำบังคับเครื่องไม่พอดี เหลือที่ให้น้ำกรดถ่านวิ่งเล่นหรอ (XD) ก็ขอให้สันนิฐานได้เลยว่าโดนเปลี่ยนเครื่องมาแล้วแน่ ๆ ทำให้ต้องหาเครื่องที่ตรงรุ่นกับตัวเรือนและหน้าปัดของลูกค้ามาใส่คืน โดยเริ่มจากการวัดขนาดของตัวเครื่อง ซึ่งจะวัดความกว้างของส่วนที่กว้างที่สุดเป็นหลักสำหรับเครื่องรูปวงกลมหรือสี่เหลี่ยมทั่วไป อาจจะยึดจากแนวของแกนไขก็ได้ และวัดในแนวนอนเพิ่มเติมหากเป็นเครื่องทรงเม็ดข้าวสาร
  • ตำแหน่งขาหน้าปัดนาฬิกา เครื่องนาฬิการุ่นที่เก่ามาก ๆ จนไม่มีอะไหล่แล้ว อาจจะต้องใช้เครื่องที่ใกล้เคียงกันแทน นอกจากความกว้างและความสูงแล้วยังต้องเปรียบเทียบตำแหน่งของขาหน้าปัดด้วย ตำแหน่งของช่องใส่ขาหน้าปัดจะเป็นรูกลมโล่ง ๆ วางตำแหน่งตรงข้ามกันที่ขอบนอกสุดของเครื่องนาฬิกา ซึ่งแต่ละผู้ผลิตเครื่องจะมีการวางช่องใส่หน้าปัดนี้เป็นเอกลักษณ์ของรุ่นต่าง ๆ และเพื่อใช้งานได้หลากหลาย

ภาพเครื่องนาฬิกา Ronda แบบ 3 เข็ม มีวันที่ รุ่น 515

          เม็ดมะยม เม็ดมะยมนาฬิกา (รวมถึงปุ่มกดต่าง ๆ) มีรายละเอียดในการเลือกซื้อค่อนข้างมาก ถ้าหากเป็นเม็ดมะยมแบบตรงรุ่นเช่น Seiko, Tissot, Mido, Longines, Tag Heuer, หรือแม้กระทั้ง Rolex จะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเรือนที่ครบถ้วนคือ ชื่อรุ่น ขนาดตัวเรือน วัสดุหรือสีของตัวเรือน บางรุ่นต้องระบุขนาดความกว้างของเม็ดมะยมเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้ถูกต้องกับของเดิมมากที่สุด

          สำหรับนาฬิกาทั่วไป การเลือกซื้อเม็ดมะยมจะเปรียบเหมือนจักรวาลอีก 1 ใบของวงการนาฬิกา เนื่องจากมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณา 5 ส่วนประกอบด้วย ขนาดเม็ดมะยม – ประเภทเม็ดมะยม – ปลอกเม็ดมะยม – ความยาวแกน – ขนาดเกลียวแกนไข

ภาพตัวอย่างเม็ดมะยมแต่ลละแบบที่พบได้ในนาฬิกาทั่วไป

  1. ขนาดของเม็ดมะยม เม็ดมะยมและปุ่มกดเป็นส่วนที่เชื่อมต่อเครื่องนาฬิกากับผู้ใช้งาน ด้วยดีไซน์และฟังค์ชั่นทำให้เม็ดมะยมถูกผลิตขึ้นมาหลากหลายขนาดให้เลือกใช้งานตั้งแต่ 3.00 มม. – 8.00 มม. โดยเฉลี่ยของนาฬิกาทรงสปอร์ตทั่วไปมักมีเม็ดมะยมที่ขนาดค่อนข้างใหญ่ตั้งแต่ 5.50 มิลลิเมตรขึ้นไป การวัดขนาดเม็ดมะยมเริ่มจากการวัดเส้นผ่านของเม็ดมะยมในส่วนที่กว้างที่สุด จากนั้นวัดความหนาของเม็ดมะยมเพิ่มเติม ใช้หน่วยวัด xx มม.
  2. ประเภทของเม็ดมะยม นอกจากเชื่อมต่อเครื่องนาฬิกา เม็ดมะยมยังทำหน้าที่ปิดตัวเรือนให้สมบูรณ์เพื่อไม่ให้น้ำ ความชื้นหรือฝุ่นละอองเข้าไปรบกวนการทำงานของนาฬิกา โดยพื้นฐานคือการกันฝุ่นซึ่งเม็ดมะยมจะปิดทับช่องเจาะที่ตัวเรือน ต่อมามีการทำปลอกเม็ดมะยม มีลักษณะคล้ายหลอดดูดน้ำขนาดเล็กทำด้วยโลหะเพื่อให้เม็ดมะยมครอบทับและปิดกันฝุ่นได้พอดี เม็ดมะยมแบบกันน้ำเริ่มต้นจะใช้การใส่ยางกันน้ำไว้ที่ด้านในสุดของเม็ดมะยมเพื่อให้ปลอกปิดสนิทมากขึ้น ต่อมาได้พัฒนาเป็นการขันเกลียวเพิ่มความแน่นระหว่างยางกันน้ำเม็ดมะยมกับปลอกเม็ดมะยม ซึ่งกันน้ำได้ถึงแรงดัน 20 บาร์
  3. ปลอกเม็ดมะยม เนื่องจากเม็ดมะยมต้องปิดกับปลอกให้มีความพอดี ช่องเว้าของเม็ดมะยมจะมีขนาดใกล้เคียงกับปลอกเม็ดมะยมที่สวมติดอยู่กับตัวเรือน ในการสั่งซื้อเม็ดมะยมให้วัดความกว้างของเม็ดมะยมว่ามีรัศมีรอบนอกเท่าไร เพื่อให้ใส่เม็ดมะยมได้พอดี ปลอกเม็ดมะยมจะมีขนาดตั้งแต่ 1.30 มม. จนถึง 2.50 มม. รวมถึงในนาฬิกาสปอร์ตดำน้ำ จะใช้ปลอกเม็ดมะยมแบบเกลียว ซึ่งจะมีขนาดที่ใหญ่และมีเกลียวด้านนอกเพื่อสามารถขันเม็ดมะยมเข้าไปได้ ใช้หน่วยเป็น xx มม.
  4. แกนเม็ดมะยม แกนเม็ดมะยม (เดือย) เป็นส่วนที่ใช้ติดตั้งแกนไขที่จะใช้สำหรับเชื่อมต่อกับเครื่องนาฬิกา แกนเม็ดมะยมจะมีทั้งแบบฝังจมเสมอกับเม็ดมะยม แบบที่ยื่นออกมา รวมถึงแบบที่มีการคอดเพื่อใส่ยางกันน้ำ (นิยมใช้ในผู้ผลิตจากญี่ปุ่น) การวัดขนาดแกนเม็ดมะยมสามารถใช้ก้านวัดลึกเพื่อวันความสูงของแกนเม็ดมะยมที่พ้นจากขอบได้ ใช้หน่วยเป็น xx มม.
  5. ขนาดเกลียว-ขนาดแกนไข แกนไขเป็นแท่งโลหะยาวมีปลายบางส่วนเป็นทรงเทียมเพื่อให้ล๊อคกับจักรไขได้ ส่วนปลายสุดจะมีลักษณะเป็นเกลียวเพื่อใส่กัยเม็ดมะยมนาฬิกา การวัดขนาดแกนไขจะวัดขนาดส่วนเกลียวเป็นเส้นผ่านศูนย์กลาง โดยจะมีขนาด 0.8, 0.9 (นิยมมากที่สุด) และ 1.0 มม.

 

12 กันยายน 2561

ผู้ชม 11977 ครั้ง