ดูบทความ3 เรื่อง "งง ๆ" ในร้านนาฬิกา

3 เรื่อง "งง ๆ" ในร้านนาฬิกา

 

          เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกค้าที่นำนาฬิกาไปซ่อม หรือช่างที่ต้องรับงาน คุยรายละเอียดช่วยแก้ปัญหากับลูกค้าของเรา วันนี้ทีมงานลองรวบรวมปัญหายอดฮิตที่คิดว่าทุกคนน่าจะเคยเจอ มาอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ กันค่ะ

 

พี่คะหน้าปัดแตก ซ่อมเท่าไหร่ตอบด้วยนะค่ะ

 

          นอกจากจะมึนงงกับการสะกดคำแล้วยังงงเข้าไปอีกว่าทำหน้าปัดนาฬิกาแตกได้อย่างไรกัน ในเมื่อ “หน้าปัดนาฬิกา” หมายถึง แผ่นที่ใช้แสดงหลักเวลา เจาะช่องวันที่ หรือลวดลายสวย ๆ ต่าง ๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะวางอยู่บนเครื่องนาฬิกา และใต้เข็มนาฬิกา หน้าปัดนาฬิกามักทำจากโลหะหรือวัสดุอื่น ๆ เช่นกระเบื้อง ลายกราฟิค เหรียญ หรืองานแกะสลักต่าง ๆ ส่วนที่น่าจะแตกจริง ๆ โดยมากคือ “กระจกนาฬิกา” เป็นส่วนที่อยู่บนสุดของนาฬิกา ทำหน้าที่ปกป้องชิ้นส่วนภายในทั้งเครื่อง เข็ม หน้าปัด และอื่น ๆ ให้ทำงานได้ราบรื่น

          ถึงจะชื่อกระจกนาฬิกา แต่จริง ๆ แล้วทำจากวัสดุหลายชนิดเช่น 1.พลาสติกแบบอะคิลิค หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่าสโนลอยหรือเซลลูลอยด์ มียืดหยุ่น แต่เป็นรอยได้ง่าย 2.กระจกแก้วซึ่งมีความใสมากกว่าพลาสติก แข็ง ทนต่อการขีดข่วนดีกว่า แต่มีความเปราะ หรือ 3.แร่แซฟไฟร์ ที่มีความแข็งในระดับรองลงมาจากเพชรแต่คงคุณสมบัติความใสเหมือนกระจก

 

เปลี่ยนถ่านแค่นี้ ทำไมตั้ง 300 เห็นในเว็บก้อนละ 50 เอง

          “ก็ไปซื้อเปลี่ยนเองสิครับ” คงเป็นสิ่งที่ช่างได้แต่คิดใน พลางตอบไปว่า ผมบริการเช็คเครื่องให้ด้วยครับ ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะในทางปฏิบัติแล้วอาการที่นาฬิกาหยุดเดินไม่ได้มีสาเหตุมาจากถ่านหมดเพียงอย่างเดียว โดยทั่วไปเมื่อเปิดฝาหลังด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสมได้แล้ว (ซึ่งเครื่องมือคุณภาพสูงรวม ๆ กันหลาย ๆ ชิ้น แล้วก็ดาวน์รถได้เลยทีเดียว) ช่างจะนำถ่านมาเช็คกำลังไฟ ถ้าไฟหมดก็จะเปลี่ยนถ่านก้อนใหม่และนำนาฬิกาไปตรวจสอบการทำงานว่าปกติดีไหม หากปกติดี จะทำการตรวจสอบการกันน้ำของนาฬิกาโดยเฉพาะที่ฝาหลัง ซึ่งจะมียางกันน้ำ (watch gasket) หรือที่รู้จักกันคือยางโอริง ว่ามีสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ จากนั้นนำยางกันน้ำมาเคลือบซิลิโคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ใส่คืนที่เดิมและปิดฝาหลังนาฬิกา

 

เครื่องใส่ถ่านต้องล้างเครื่องด้วยหรอคะ เคยไปร้าน xxx เปลี่ยนถ่านก็ใช้ได้แล้ว

          หลายท่านอาจเคยอ่านประสบการณ์โดนช่างบางคนหลอกในกระทู้ต่าง ๆ ผ่านการแนะนำให้ล้างเครื่องนาฬิกา จนฝังใจว่า ช่างหลอกเอาเงินแน่ ๆ แต่ความเป็นจริงแล้ว นาฬิกาใส่ถ่านที่มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหว (เช่น เข็ม เม็ดมะยม ปุ่มกด) ควรได้รับการดูแลแยกเป็นสองส่วนด้วยกัน

  • ส่วนแรกคือดูแลเรื่องการเปลี่ยนถ่านในเวลาที่เหมาะสมไม่ทิ้งถ่านหมดอายุไว้ในเครื่อง จนกรดไหลออกมาทำลายแผงวงจร ถ่านนาฬิกาโดยทั่วไปใช้งานได้ประมาณ 2 ปี แต่ขึ้นอยู่กับฟังค์ชั่นของนาฬิกาด้วย
  • ส่วนที่สองคือดูแลจักรเดินเวลาให้มีความไหลลื่นในระดับที่เหมาะสม ผ่านการล้างเครื่องและหล่อลื่นด้วยน้ำมันที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเฟืองติดขัด จนนำไปสู่ปปัญหาเช่นฟันเฟืองล้ม เฟืองละลาย (เนื่องจากนาฬิกาใส่ถ่านบางรุ่นใช้เฟืองที่ทำจากพลาสติก!) จนต้องนำไปซ่อมหรือยกเครื่องใหม่ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเปลียนถ่าน

 

          หากอ่านจบแล้ว ท่านยังรู้สึกยังอาจคาใจ สามารถลองซื้อเครื่องมือในกลุ่มที่เน้นความคุ้มค่าที่เหมาะสมกับรุ่นนาฬิกา ไปทำการ Service นาฬิกาได้ เพราะการซ่อมแซมเบื้องต้นเช่นการเปลี่ยนถ่าน เปลี่ยนสาย หรือการทำความสะอาดภายนอก ไม่ยากอย่างที่คิด หากสนใจสินค้าสามารถเลือกซื้อได้จากระบบบนเว็บไซต์ได้เลยค่ะ

14 กรกฎาคม 2561

ผู้ชม 10108 ครั้ง