ดูบทความหยิบง่ายเหมือนร่ายมนต์ EP.2 - ปากคีบดี ๆ มีจริงที่นี่!

หยิบง่ายเหมือนร่ายมนต์ EP.2 - ปากคีบดี ๆ มีจริงที่นี่!

หยิบง่ายเหมือนร่ายมนต์ EP.2 - ปากคีบดี ๆ มีจริงที่นี่!

หยิบง่ายเหมือนร่ายมนต์ EP.2 - ปากคีบดี ๆ มีจริงที่นี่!

          จากตอนที่แล้วเราได้ทำความรู้จักกันแล้วว่าวัสดุที่นิยมนำมาทำปากคีบแต่ละแบบมีคุณสมบัติแตกต่างกันอย่างไร ในตอนนี้เรามาดูวิธีการเลือกขนาด รูปร่าง ของปากคีบพื้นฐานที่ช่างนาฬิกาควรมีติดตัวไว้ใช้งานกันครับ

          โครงสร้างของปากคีบโดยทั่วไปแบบเป็น 4 ส่วนคือ ส่วนปาก, ส่วนปลายปาก, ส่วนด้ามจับ, และส่วนยึดด้านท้าย แต่ละส่วนจะสามารถออกแบบขนาดและรูปทรงได้ต่างกันเพื่อคุณสมบัติต่าง ๆ เช่นการเน้นความทนทานหรือเน้นความละเอียดและแม่นยำสูง

ภาพแสดงโครงสร้างแต่ละส่วนของปากคีบ

          ส่วนปาก เป็นส่วนที่มีความสำคัญของปากคีบเนื่องจากสามารถบ่งบอกได้อย่างชัดเจนถึงวัตถุประสงค์การใช้งาน ปากโดยทั่วไปจะมีลักษณะตรงและเรียวเล็กลงที่ด้านปลาย มีความหนาเพื่อเพิ่มความแข็งแรงรวมถึงสร้างแรงบีบได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นส่วนที่ออกแบบกลไกการทำงานและลักษณะการบีบหรือคีบที่ต่างออกไป เช่นปากคีบแบบโค้งที่ช่วยให้วางมือขนานกับโต๊ะระหว่างทำงาน สามารถลดอาการเมื่อยล้า ช่วยลดอาการมือสั่นจากการเกร็งได้

(ซ้าย) ปากคีบแบบโค้งวางมือขนานกับโต๊ะซ่อม (ขวา) ปากคีบทั่วไปตั้งมือทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย

          ส่วนปลายปาก คือส่วนปลายสุด (Tip) ของปาก เป็นส่วนที่มักจะมีขนาดเล็กที่สุด คมที่สุด แม่นยำที่สุด และใช้สัมผัสชิ้นส่วนวัตถุต่าง ๆ ปลายปากคีบที่นิยมเป็นส่วนมากมักมีลักษณะเป็นจุด (point end) หรือแบบโค้ง (round end) ทั้งสองแบบสามารถใช้งานได้หลากหลาย ครอบคลุมการใช้งานทั่วไป ปลายปากคีบแบบจุดสามารถใช้กับสิ่งของที่มีขนาดเล็กพิเศษเพื่อความแม่นยำได้ดี ในขณะที่ปลายปากแบบโค้งจะสามารถจับวัตถุชิ้นใหญ่ได้อย่างมั่นคงและเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงกว่า นอกจากนี้ยังมีการทำปลายปากคีบแบบอื่น ๆ เช่นแบบตัดตรง (cutting tweezer) เพื่อใช้ในการช่วยงัด ดึง หรือตัดชิ้นส่วนขนาดเล็กต่าง ๆ

          ส่วนด้ามจับ เป็นส่วนที่เราจับถือปากคีบใช้งาน สามารถควบคุมแรงบีบและความกว้างของปากคีบ ขนาดของด้ามจับที่มีขนาดเล็กจะช่วยให้กะและควบคุมขนาดแรงบีบได้ละเอียดมากยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องเกร็งนิ้วจนออกแรงเกิดพอดี ส่วนด้ามจับขนาดใหญ่ช่วยให้จับวัตถุได้อย่างมั่นคง

          ส่วนยึดด้านท้าย เป็นส่วนที่ยึดให้แผ่นโลหะทั้งสองแผ่นติดกันและมีสามารถอ้าออกได้เหมือนสปริงเมื่อไม่มีการบีบที่ด้ามจับ ส่วนยึดด้านท้ายจะเป็นหนึ่งในตัวกำหนดความแข็งหรืออ่อนของปากคีบเช่นเดียวกับขนาดตัวด้ามจับนั่นเอง

          มาถึงเรื่องที่ทุกคนอยากรู้แล้วก็คือ เราควรมีปากคีบเบอร์อะไรบ้างและขนาดเท่าไหร่ สำหรับช่างนาฬิกาทั่วไปควรมีปากคีบอย่างน้อย 2 ชุดคือชุดหลักและสำรอง เนื่องจากหากปากคีบชุดหลักเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการหล่น การกระแทก ปากคีบชิ้นนั้นจะใช้งานไม่ได้ทันทีจนกว่าจะได้รับการปรับแต่งใหม่ ทำให้งานเกิดการสะดุดและเสียเวลาอย่างมาก

ภาพรวมปากคีบเบอร์ยอดนิยมของช่างนาฬิกา 1, 3, และ 27

          สำหรับปากคีบเบอร์ยอดนิยมของช่างนาฬิกาจะมีอยู่ 3 ขนาดด้วยกันนั้นคือ เบอร์ 3 สำหรับการคีบวัตถุที่มีขนาดเล็กต้องการความแม่นยำสูงเช่นจักรต่าง ๆ เบอร์ 1 มีความทนทานแข็งแรงมากกว่าสำหรับคีบชิ้นส่วนขนาดใหญ่เช่นแป้นทับจักร กระปุกลานหรือตุ้มเหวี่ยงของระบบออโตเมติก และสุดท้ายคือปากคีบขนาดเล็กเช่นเบอร์ SS หรือ 27 สำหรับวัตถุที่ต้องการความละเอียดและแม่นยำเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการออกแรงบีบมากเกินไปจนสร้างความเสียหายบนชิ้นงาน สำหรับช่างที่ทำงานปรับแต่งชิ้นส่วนนาฬิกาจักรกล นิยมใช้ปากคีบเบอร์ 4 และเบอร์ 5 ซึ่งมีปากรูปทรงเรียวพิเศษ (Needle Nose Style) สำหรับการดัดและปรับแต่งสายใยนาฬิกาที่มีความละเอียดอ่อนสูง

ปากคีบแบบ Negative พร้อมปากเฉพาะสำหรับคีบกระจกนาฬิกา Bergeon 7140

          นอกจากนี้ยังมีปากคีบเฉพาะทางและแบบพิเศษอื่น ๆ ที่ออกแบบมาสำหรับอำนวยความสะดวกให้ช่างนาฬิกาโดยเฉพาะเช่น ปากคีบแบบ Negative ซึ่งเมื่อเราออกแรงบีบ ตัวปากคีบจะถ่างออกเมื่อปล่อยส่วนปากจะประกบเข้าหากัน ใช้สำหรับการช่วยจับชิ้นส่วนที่บอบบางเช่นจักรเข็มชั่วโมงหรือเม็ดทับทิม หรือปากคีบ Negative ที่ส่วนปลายมีความโค้งสำหรับการจับหน้าปัดนาฬิกาที่เฉพาะส่วนขอบ ปากคีบแบบมีฟองน้ำในตัวสำหรับการหล่อลื่นลานนาฬิกา หรือปากคีบแบบคาร์บอนไฟเบอร์สำหรับคีบอุปกรณ์ที่บอบบางโดยไม่เกิดการขีดข่วนเช่นแผงวงจรนาฬิกา (Circuit) เป็นต้น

 

 

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

29 กันยายน 2561

ผู้ชม 5340 ครั้ง